

นายตรรกพจน์ เนาวพันธ์
ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดคลองฉนวน
ประวัติ โรงเรียนวัดคลองฉนวน
โรงเรียนวัดคลองฉนวน แต่เดิมตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งหลวง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาทางราชการแบ่งเขตการปกครองใหม่ โรงเรียนจึงตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลคลองฉนวน อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โรงเรียนนี้ก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อ พ.ศ. 2473 ภายใต้การนำของพระอธิการพร้อม เกสโร เจ้าอาวาสวัดคลองฉนวน โดยความร่วมมือของราษฎรในเขตบริการของโรงเรียน การก่อสร้างอาคารเป็นอาคารชั่วคราวไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด ครูผู้สอนมีเพียง 1 คนคือ พระอธิการพร้อม เกสโร การสอนไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆทั้งสิ้นจากทางราชการ
ในปี พ.ศ. 2497 ทางราชการเห็นความสำคัญของสถานศึกษาแห่งนี้ จึงยกฐานะเป็นโรงเรียนในสาขาของโรงเรียนวัดทุ่งหลวง และแต่งตั้งนายชม ช่วยบำรุง ตำแหน่งครูโรงเรียนประชาบาลวัดท่าเรือ อำเภอบ้านนาสาร มาเป็นครูผู้สอน โดยสอนร่วมกับพระอธิการพร้อม เกสโร เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4
ในปี พ.ศ. 2481 ทางราชการได้ยกฐานะโรงเรียนนี้เป็นเอกเทศ และใช้ชื่อว่า “โรงเรียนประชาบาลตำบลทุ่งหลวง 2 (วัดคลองฉนวน)” และแต่งตั้งนายชม ช่วยบำรุง ดำรงตำแหน่งครูใหญ่
ในปี พ.ศ. 2496 ทางราชการย้ายนายชม ช่วยบำรุง ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านควนสูง และย้ายนายเกษม สันตธรรม มาดำรงตำแหน่งแทน
ในปี พ.ศ. 2501 นายเกษม สันตธรรม ลาออกจากราชการ ทางราชการจึงแต่งตั้งนายจิต จุลเพชร ครูโรงเรียนนี้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2512
ในปี พ.ศ. 2512 ทางราชการย้ายนายพินัย จันทบูลย์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนนี้
ปี พ.ศ. 2521 ทางราชการย้ายนายพินัย จันทบูลย์ ไปทำหน้าที่ครูผู้สอนที่โรงเรียนวัดบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ และแต่งตั้งนายบุญยืน คงอภัยเป็นครูใหญ่แทน
ในปี พ.ศ. 2526 ทางราชการย้ายนายบุญยืน คงอภัย ไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนบ้านควนสูง และย้ายนายสมนึก ดำนิล ตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านควนสูง มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน
ในปี พ.ศ. 2528 โรงเรียนนี้ได้รับงบประมาณก่อสร้างจำนวน 3 รายการ คือ
1. อาคารเรียนแบบ สปช. 105 – 2526 จำนวน 1 หลัง 8 ห้องเรียน งบประมาณ 1,040,000 บาท
2. สนามกีฬา แบบ พ.2 – 2526 ขนาด 95 x 115 เมตร งบประมาณ 35,000 บาท
3. เรือนเพาะชำ แบบ พ. 1 ขนาด 4 x 6 เมตร จำนวน 1 หลัง งบประมาณ 10,000 บาท
ปี พ.ศ. 2528 ทางราชการได้กำหนดตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนนี้ จากตำแหน่งครูใหญ่ เป็นอาจารย์ใหญ่ พร้อมทั้งแต่งตั้งนายสมนึก ดำนิล ให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2528
ปี พ.ศ. 2529 ทางโรงเรียนได้รับอนุมัติให้ขยายการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา(ชั้นเด็กเล็ก) จำนวน 1 ห้องเรียน
ปี พ.ศ. 2531 ได้รับงบประมาณสร้างสนามวอลเลย์บอลงบประมาณ 65,500 บาท และในปีเดียวกันนี้ทางราชการได้ย้ายนายสมนึก ดำนิล อาจารย์ใหญ่ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านควนสูง และย้ายนายบุญยืน คงอภัย มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคลองฉนวน
ปี พ.ศ. 2540 ได้รับงบประมาณของโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา โดยได้รับงบประมาณจัดห้องคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง ห้องปฏิบัติการทางภาษา 1 ห้อง และงบประมาณปรับปรุงอาคารเรียน ป 1 ก/ 3 และในปีนี้ ทางราชการได้ย้ายนายบุญยืน คงอภัย อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคลองฉนวน ไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านปากหาน และย้ายนายกระแส อัชฌากร มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดคลองฉนวน
ปี พ.ศ. 2544 นายกระแส อัชฌากร ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำ ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ทางราชการจึงย้ายนายโอภาส อนุจร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านส้องเหนือมาดำรงตำแหน่งแทน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2544 และในปีเดียวกันนี้ โรงเรียนได้จัดงานทอดผ้าป่าหาทุนพัฒนาโรงเรียน ได้งบปรับปรุงห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ปรับปรุงรั้วและป้ายชื่อโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2545 โรงเรียนได้จัดงานหาเงินพัฒนาโรงเรียน ได้เงินประมาณ 100,000 บาท ได้ใช้เงินในการปรับปรุงปูกระเบื้องห้องเรียน สร้างทางเท้า จัดทำศาลาพี่พัก และจัดซื้อม้าหินอ่อนเป็นที่นั่งพักผ่อนแลแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน
ปี พ.ศ. 2547 ผู้บริหารโรงเรียนวัดคลองฉนวน ได้รับการแต่งตั้งกำหนดตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547
ปี พ.ศ. 2554 ทางราชการย้าย นายตรรกพจน์ เนาวพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยทรายทอง มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดคลองฉนวน
ปัจจุบันโรงเรียนวัดคลองฉนวน มีครู 8 คน พนักงานราชการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 2 คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการเรียนรวม 1 คน ธุรการ 1 คน และนักเรียน 126 คน จัดการเรียนการสอน 2 ระดับ คือ ระดับปฐมวัย และระดับประถมศึกษา
วิสัยทัศน์
“ เป็นโรงเรียนคุณภาพระดับตำบล สู่สากลมาตรฐานการศึกษา ยึดศาสตร์พระราชา และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เทียบเคียงโลกศตวรรษที่ 21”
ปรัชญา
“ปัญญา นรานํ รัตนํ” ปัญญาเป็นแก้ววิเศษของคน
พันธกิจ
สนับสนุนพัฒนาส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีคุณภาพทั้งทางด้านวิชาการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การบริหารจัดการได้มาตรฐาน ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง โรงเรียนน่าอยู่มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ยึดมั่นศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21
นโยบายเป้าประสงค์
1. ผู้เรียนทุกคน ในเขตบริการได้เข้าเรียนและมีคุณภาพด้านผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการและด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษา
2. ผู้บริหารสามารถบริหารจัดการให้สถานศึกษามีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาล ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
3. บุคลากรของโรงเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มขีดความสามารถ ตามแนวศาสตร์พระราชา เน้นให้ครูจัดการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญก้าวทันการเปลี่ยนแปลง